วิธีและขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทำไมต้องจดทะเบียนพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์

กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและสนับสนุนพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มและขยายช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดความน่า เชื่อถือของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ เพราะไม่สามารถรู้หรือทราบได้ว่าผู้ประกอบการเป็นใคร อยู่ที่ไหน กรณีมีปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ไม่สามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้

ดังนั้น จะเห็นว่า ความเชื่อถือและเชื่อมั่นดังกล่าว ถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การที่จะช่วยกระตุ้นให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับความแพร่หลายในประเทศไทย เกิดการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น จะต้องมีการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการตัดสินใจทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย ต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้ว่า ผู้ประกอบการมี ตัวตนจริงหรือไม่ เป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำธุรกรรมอะไรบ้าง

ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้อง จดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์สําหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดังนี้

  1. การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  2. การบริการอินเทอร์เน็ต
  3. การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย เช่น www.ireadyhost.com
  4. การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น www.ThaiPropertyland.com

** บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ฯ ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษปรับเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ประโยชน์ของการจดทะเบียน

  1. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง โดยกรมฯ จะจัดทำเลขทะเบียน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องหมาย Registered) จัดส่งให้แก่ผู้ประกอบการ (ส่งทางe-Mail ในรูปแบบ Source Code) เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปแสดงไว้บน Web Site หรือ Home Page เพื่อแสดงว่าได้ จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว เมื่อผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เห็นเครื่องหมาย Registered แล้ว จะเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อ click ที่เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบจะเชื่อมโยงมายังฐานข้อมูลกรมฯ และแสดงข้อมูลทางทะเบียนของผู้ประกอบการ เพื่อให้ ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะและการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้
  2. กรมฯ จะนำรายชื่อเว็บไซต์ที่ขึ้นทะเบียน มาจัดทำเป็นฐานข้อมูล แยกตามประเภทธุรกิจ ผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th/edirectory นำไปเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการและประชาชนผู้สนใจผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นการช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
  3. ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้ว สามารถยื่นขอใช้เครื่อง หมายรับรองความน่าเชื่อถือ (Trustmark) จากกรมฯ ได้ ซึ่งเครื่องหมาย Trustmark นี้จะมีความ น่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย Registered กล่าวคือ จะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณสมบัติตามที่กรมฯ กำหนด เท่านั้น เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ (www.trustmarkthai.com)
  4. การได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การเข้าร่วมการอบรมสัมมนา การได้รับคำแนะนำ และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  1. ทําเว็บไซต์ให้เสร็จเรียบร้อยพร้อมออนไลน์โดยมีเวลายื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์สําหรับธุรกิจพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบการ
  2. ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์สําหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สถานที่จดทะเบียนพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์สําหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  • เขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สํานักงานเขต 50 เขต (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ) หรือ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการ กทม. (ครอบคลุมทั้ง 50 เขต)

    รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง โทร. 0-2224-1916, 0-2225-1945 หรือที่ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง และที่เว็บไซต์ www.bangkok.go.th/fiic
  • จังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ)

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการจดทะเบียนพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์

  1. สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
  2. คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด
  3. เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด
  4. Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชําระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  7. หนังสือมอบอํานาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสําเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอํานาจ (กรณีมอบอํานาจ)

กำหนดเวลาการยื่นคำขอจดทะเบียน

ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ให้ยื่นขอจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบการ